เทคนิคการสรุป


ความหมาย
                เทคนิคการสรุปบทเรียน  หมายถึง การที่ผู้สอนพยายามทำให้ผู้เรียนสามารถรวมความคิด ความเข้าใจของตนเองได้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งอาจเป็นการรวมหรือสรุปบทเรียน หรือข้อเท็จจริง หรือแนวความคิดสำคัญๆจากประสบการณ์ในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง แล้วสามารถนำความรู้ไปสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ หรือนำไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จากที่ได้กล่าวมา การสรุปบทเรียน เป็นการสรุปความคิดรวบยอด และสาระสำคัญของบทเรียน

ความสำคัญของการสรุปบทเรียน
                    1. เมื่อผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระสำคัญของบทเรียนมาแล้ว ความคิด ความเข้าใจยังกระจัดกระจาย หรือมีความสับสน การสรุปบทเรียนจะช่วยรวบรวมความคิด ความเข้าใจให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง จนเกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้อง
                    2. เนื้อหาสาระในบทเรียนมักมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันทั้งภายในเรื่องเดียวกัน และเรื่องอื่นๆ ดังนั้นการสรุปบทเรียนในลักษณะโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ ภายในเรื่องเดียวกัน หรือระหว่างบทเรียนเก่ากับใหม่ จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องอย่างชัดเจน
                    3. จุดมุ่งหมายของการศึกษาหาความรู้อยู่ที่การสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ การสรุปบทเรียนจะช่วยชี้นำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้

วิธีการสรุปบทเรียน
                    โดยเป็นการให้ผู้สอนได้ใช้วิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการสรุปบทเรียน วิธีการสรุปบทเรียนสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
                    1. สรุปจากการตั้งคำถาม โดยการซักถามให้นักเรียนสรุปรวบรวมโดยใช้ภาษาของนักเรียนเอง
                    2. สรุปจากการใช้อุปกรณ์  คือ ใช้อุปกรณ์เป็นสื่อเพื่อให้นักเรียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว
                    3. สรุปจากประสบการณ์ เช่น การสังเกต การทดลอง การสาธิต ฯลฯ
                    4. สรุปจากการสร้างสถานการณ์ขึ้น โดยครูสร้างสถานการณ์ขึ้น และให้นักเรียนสรุปจากสถานการณ์ที่ครูสร้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์นั้นๆอาจจะเหมือนกับสถานการณ์การเรียนที่ผ่านไปหรืออาจใช้สถานการณ์ใหม่ก็ได้
                    5. สรุปโดยการบรรยาย เป็นวิธีการสรุปง่ายๆที่ผู้สอนเป็นผู้สรุปความคิดรวบยอด หรือสาระสำคัญของบทเรียนให้ผู้เรียนฟัง โดยผู้ว่า เรื่องนี้สรุปได้ว่า..............
                    6. สรุปจากการใช้กิจกรรม อาจให้นักเรียนสังเกตการณ์สาธิตและการทดลอง และสรุปสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ

ข้อเสนอแนะในการสรุปบทเรียน
                    1. การสรุปบทเรียนสามารถสรุปได้ทุกระยะ คือเมื่อสอนจบหัวข้อ จบตอน จบเรื่อง หรือเมื่อจบบทเรียน ในการสอนและครั้งผู้สอนอาจจะสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ แล้วสรุปรวมตอนท้ายอีกครั้ง จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและสามารถติดตามบทเรียนได้โดยตลอด ถ้าไม่เข้าใจตอนใดก็สามารถแก้ไขได้ทันทีก่อนที่จะเรียนต่อไปจะช่วยให้การเรียนราบรื่นไปตลอด ดีกว่าที่ผู้สอนจะสรุปเมื่อจบบทเรียนครั้งเดียว
                    2. สรุปบทเรียนให้ครอบคลุมสาระสำคัญครบถ้วนและสรุปได้ชัดเจน ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ สามมารถสัมพันธ์ความรู้เดิมกับความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน และนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้
                    3. ผู้สอนพยายามให้ผู้เรียนสรุปด้วยตอนเองก่อน เพื่อดูว่าผู้เรียนมีความเข้าใจถูกต้องหรือไม่ แล้วผู้สอนช่วยแก้ไขและส่งเสริมให้ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน โดยให้สรุปเป็นรายบุคคล หรือแบ่งกลุ่มช่วยกันสรุป
                    4. ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันสรุป โดยผู้สอนเป็นผู้ถามแล้วให้ผู้เรียนตอบจนสามารถได้สาระสำคัญครบถ้วน
                    5. ผู้สอนเป็นผู้สรุป ซึ่งควรจะทำเมื่อใช้วิธีให้ผู้เรียนสรุป หรือผู้สอนกับผู้เรียนช่วยกันสรุปมาแล้ว หรือเมื่อบทเรียนนั้นยากและสลับซับซ้อน หรือเมื่อต้องการจะโยงให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างบทเรียนที่เรียนไปแล้วกีบบทเรียนใหม่ หรือจะโยงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องของหัวข้อต่างๆในบทเรียนเดียวกัน
                    6. การสรุปต้องเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่นักเรียน เรียนรู้แล้ว ไปสู่สิ่งที่นักเรียนยังไม่รู้
                    7. การสรุปบทเรียนที่ดี ควรสรุปเพื่อเป็นการแนะแนวสำหรับการเรียนในบทเรียนต่อไปด้วย

                    วิธีที่จะช่วยผู้สอนประเมินความสามารถของผู้เรียนว่าผู้เรียนสามารถสรุปบทเรียนได้ถูกต้องหรือไม่ และสามารถสัมพันธ์ความรู้เดิมและความรู้ใหม่เข้าด้วยกันได้ดีแค่ไหน อาจทำได้ดังนี้
                    1. โดยทบทวนสิ่งที่นักเรียนได้เรียนมาแล้วตามลำดับ จนถึงบทเรียนที่จะเรียนใหม่
                    2. โดยการสังเกตความสามารถของนักเรียน ในการนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนบทเรียนนั้นๆ มาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดิม
                    3. โดยการสังเกตความสามารถของนักเรียน ในการนำความรู้ต่างๆมาใช้สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ได้



 
เอกสารอ้างอิง
                 ลัดดาวัลย์ พิชญพจน์(2537). ทักษะและเทคนิคการสอน Skills and Techingues of Teaching
                 เฉลิมศรี ทองแสง(2538). ทักษะและเทคนิคการสอน.ลพบุรี. สถาบันราชภัฎเทพสตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2
                 ประทุม ศรีรักษา(2547). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการสอน. ลพบุรี. สถาบันราชภัฎเทพสตรี
                 วีระ มหาวิจิตร. ทักษะและเทคนิคการสอน.ลพบุรี. สถาบันราชภัฎเทพสตรี

เทคนิคการสรุป